เหตุใดนักศึกษาหญิงในอินเดียถูกบังคับให้ถอดกางเกงชั้นในให้ครูตรวจ

ทัศนคติเชิงลบเกี่ยวกับประจำเดือนของสตรีได้กลับมาเป็นข่าวหน้าหนึ่งในอินเดียอีกครั้ง

กลุ่มนักศึกษาหญิงที่พักอยู่ในหอพักนักศึกษาแห่งหนึ่งในเมืองบุจ รัฐคุชราต ทางภาคตะวันตกของอินเดีย ร้องเรียนว่าถูกสั่งให้ถอดกางเกงชั้นในให้ครูผู้หญิงดูเพื่อพิสูจน์ว่าพวกเธอไม่ได้กำลังมีประจำเดือนอยู่

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยนักศึกษาหญิง 68 คน ของสถาบันหญิงชรี สหัชนันท์ (Shree Sahajanand Girls Institute หรือ SSGI) วิทยาลัยหญิงล้วนที่ดำเนินการโดยนิกายสวามีพระนารายณ์ ซึ่งเป็นกลุ่มศาสนาฮินดูที่ร่ำรวยและมีแนวคิดอนุรักษ์นิยม เล่าว่าถูกนำตัวออกจากชั้นเรียนไปยังห้องน้ำ โดยที่พวกเธอถูกสั่งให้ถอดกางเกงชั้นออกให้ครูผู้หญิงตรวจดู

กลุ่มนักศึกษาเล่าว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากเจ้าหน้าที่หอพักได้แจ้งต่อผู้บริหารวิทยาลัยเมื่อวันที่ 10 ก.พ.ว่า มีนักศึกษาละเมิดกฎเกณฑ์ที่จะต้องปฏิบัติตามระหว่างมีประจำเดือน

กฎที่ว่านี้ได้แก่ ห้ามสตรีที่กำลังมีประจำเดือนเข้าไปในวัดฮินดูและห้องครัว รวมทั้งห้ามแตะต้องเนื้อตัวของเพื่อนนักศึกษาคนอื่น ๆ

นอกจากนี้ ยังกำหนดว่าผู้ที่มีประจำเดือนจะต้องนั่งรับประทานอาหารแยกจากผู้อื่น รวมทั้งต้องล้างจามชามของตนเอง และเมื่ออยู่ในห้องเรียนจะต้องนั่งแถวหลังสุด

นักศึกษาคนหนึ่งเปิดเผยกับทีมข่าวบีบีซีว่า ที่หอพักมีระบบลงทะเบียนที่กำหนดให้นักศึกษาหญิงต้องกรอกชื่อตัวเองเวลาที่มีประจำเดือน ซึ่งจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ทราบว่าขณะนั้นใครกำลังมีประจำเดือนบ้าง

ทว่าในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ไม่มีนักศึกษาคนใดลงชื่อตัวเองในระบบดังกล่าว ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจหากพิจารณาจากข้อจำกัดต่าง ๆ ที่พวกเธอจะต้องเผชิญ

ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันที่ 10 ก.พ.เจ้าหน้าที่หอพักได้ร้องเรียนไปยังผู้บริหารวิทยาลัยว่ามีนักศึกษาที่กำลังมีประจำเดือนเข้าไปในห้องครัว และเข้าไปใกล้กับเขตวัด รวมทั้งไปคลุกคลีกับนักศึกษาคนอื่น ๆ ส่งผลให้ในวันต่อมา นักศึกษาที่ถูกกล่าวหาถูกเจ้าหน้าที่รวมทั้งผู้บริหารวิทยาลัยข่มเหง ก่อนที่จะถูกบังคับให้ถอดกางเกงชั้นในให้ตรวจสอบ

นักศึกษากลุ่มนี้ระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็น "ประสบการณ์ที่น่าเจ็บปวดใจอย่างยิ่ง" และสร้าง "ความบอบช้ำทางจิตใจ" ซึ่งถือเป็น "การทรมานทางจิตใจ" อย่างหนึ่ง

พ่อของนักศึกษาคนหนึ่งให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า ตอนที่เขาไปถึงวิทยาลัย ลูกสาวของเขาและนักศึกษาอื่นอีกหลายคนเข้ามาหาเขา และเริ่มร้องไห้ "พวกเขาต่างอยู่ในอาการช็อก" เขากล่าว

หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว นักศึกษากลุ่มหนึ่งได้ชุมนุมประท้วงที่วิทยาลัย พร้อมเรียกร้องให้เอาผิดเจ้าหน้าที่วิทยาลัยที่สร้าง "ความอับอาย" ให้แก่พวกเธอ

นายประวิน พินโดเรีย ผู้ดูแลวิทยาลัยกล่าวว่าเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องน่าเสียใจ และว่าขณะนี้ได้มีคำสั่งให้สอบสวนหาผู้กระทำผิดแล้ว

ขณะที่นางดาร์ชานา โดลาเกีย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นต้นสังกัดของวิทยาลัยหญิงแห่งนี้ กลับกล่าวโทษนักศึกษาที่ทำผิดกฎ และว่านักศึกษาบางคนได้ออกมาขอโทษต่อกรณีที่เกิดขึ้นแล้ว

เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการสตรีของรัฐคุชราต สั่งให้เปิดการสอบสวน "การกระทำที่น่าอับอาย" นี้ พร้อมขอให้นักศึกษาให้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องเกรงกลัว ขณะที่ตำรวจได้รับแจ้งความเรื่องนี้แล้ว

ไม่ใช่ครั้งแรก
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นักศึกษาหญิงถูกลงโทษให้เกิดความอับอายจากการมีรอบเดือน

เมื่อ 3 ปีก่อนได้เกิดกรณีคล้ายกันที่โรงเรียนประจำแห่งหนึ่งทางภาคเหนือของอินเดีย โดยเด็กนักเรียนหญิง 70 คนได้ถูกเจ้าหน้าที่โรงเรียนสั่งให้ถอดเสื้อผ้าหลังจากพบรอยเลือดที่ประตูห้องน้ำของโรงเรียน

ปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงจากการมีประจำเดือนเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในอินเดีย ซึ่งสังคมยังมีทัศนคติเชิงลบต่อประจำเดือน และมองว่าผู้หญิงที่กำลังมีประจำเดือนไม่สะอาดบริสุทธิ์ ทำให้พวกเธอถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมงานสังคมหรือพิธีกรรมทางศาสนาต่าง ๆ รวมทั้งถูกห้ามไม่ให้เข้าไปในเขตศาสนสถานต่าง ๆ รวมทั้งห้องครัว

ทัศนคติที่หยั่งรากลึก
ปัจจุบันความเชื่อที่ล้าสมัยเหล่านี้เริ่มถูกท้าทายมากขึ้น โดยเฉพาะจากกลุ่มสตรีผู้มีการศึกษา โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาหลายฝ่ายพยายามรณรงค์ให้สังคมได้ตระหนักว่าประจำเดือนเป็นกลไกการทำงานทางชีวภาพอย่างหนึ่งของผู้หญิง

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าความพยายามดังกล่าวจะยังไม่ได้ผลในวงกว้าง

เมื่อปี 2018 ศาลสูงสุดของอินเดียมีคำสั่งครั้งสำคัญให้ยกเลิกข้อห้ามของวัดซาบารีมาลา วัดฮินดูชื่อดังในรัฐเกรละที่มีกฎห้ามผู้หญิงในช่วงวัยมีประจำเดือน (10-50 ปี) เข้าวัด โดยชี้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ

ทว่าหนึ่งปีถัดมา คณะผู้พิพากษายอมที่จะทบทวนคำสั่งดังกล่าว หลังเกิดการประท้วงใหญ่ในรัฐ ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจว่าการประท้วงครั้งนี้มีผู้หญิงเข้าร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก นับเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงทัศนคติเชิงลบเกี่ยวกับเรื่องประจำเดือนสตรีที่ยังคงหยั่งรากลึกในสังคมอินเดียอย่างไม่เสื่อมคลาย

เครดิตข่าวโดย: BBC NEWS
เรื่องอื่นๆ

กรมที่ดิน

ก่อนหน้า