สธ.เตรียมเอาผิด รพ.เอกชน ตรวจนักแสดงหนุ่ม พบสงสัยโควิด-19 แต่ไม่แจ้ง

จากกรณีที่วานนี้ (13 มีนาคม 2563) นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผย พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 5 คน เป็นการติดเชื้อแบบกลุ่มก้อน มาจากการสัมผัสใกล้ชิดกัน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

กลุ่มแรก คือ คนที่ 71-72 เป็นกลุ่มเดียวกับที่ไปร่วมสังสรรค์กับเพื่อนชาวฮ่องกง ที่สถานบันเทิงแห่งหนึ่ง ซึ่งยืนยันติดเชื้อเมื่อวานนี้(12 มี.ค.63) 11 คน

ส่วนกลุ่มที่ 2 คือ คนที่ 73 เป็นชายไทยอายุ 19 ปี เป็นน้องชาย ติดจากพี่สาว ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อคนที่ 57 เดินทางกลับมาจากการเสริมความงาม ที่ ประเทศเกาหลีใต้ เริ่มมีป่วย วันที่ 7 มีนาคม มีไข้ น้ำมูก เสมหะ

โดย คนที่ 74 เป็นหญิงไทยอายุ 29 ปี เป็นเพื่อนกับผู้ติดเชื้อคนที่ 57 เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 7 มีนาคม มีไข้ ไอแห้ง มีประวัติไปเที่ยวสถานบันเทิงกับเพื่อนชายและเพื่อนอีก 13 คน เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ที่ผ่านมา และคนที่ 75 เป็นชายไทยอายุ 37 ปี เป็นเพื่อนกับผู้ติดเชื้อคนที่ 74 เริ่มมีอาการป่วย เจ็บคอ มีน้ำมูก เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ขณะนี้แพทย์ได้ตรวจหาเชื้อเพื่อนในกลุ่มที่ร่วมสังสรรค์ในสถานบันเทิงทั้งหมดแล้วอยู่ระหว่างรอผลจากห้องปฏิบัติการ

ล่าสุดวันนี้ (14 มี.ค.63) กระทรวงสาธารณสุขพบผู้ป่วยโควิดเพิ่ม 7 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 82 ราย

สำหรับรายใหม่7ราย รายแรกเป็นหญิงไทยกลุ่มเดียวกับผู้ป่วยที่สังสรรค์ในผับและติดเชื้อก่อนหน้านี้ รายที่ 2 ถึงรายที่ 5 มีประประวัติมารดาเดินทางกลับจากประเทศญี่ปุ่นต่อมามีอาการป่วย และติดต่อคนในครอบครอบ

รายที่ 6 เป็นนักเรียนหญิง อายุ 20 ปี เดินกลับจากประเทศญี่ปุ่น

รายที่ 7 เป็นชายไทย นักแสดง เจ้าของค่ายมวย

นอกจากนี้ยังมีผู้สงสัยติดตามเพื่อตรวจพิสูจน์อย่างใกล้ชิดอีก 36 ราย

ทำให้ขณะนี้ยอดผู้ป่วยสะสม 82 ราย / กลับบ้านแล้ว 35 ราย / รักษาในโรงพยาบาล 46 ราย และเสียชีวิต 1 ราย

ป่วยโควิด-19รักษาฟรีทุกรพ.

นายแพทย์สุขุม กล่าวอีกว่า ในส่วนของตรวจวินิจฉัยและรักษาหากได้รับการยืนยันว่าป่วยโควิด-19 ผู้ป่วยจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆไม่ว่าจะเป็นการเข้ารักษาที่โรงพยาบาลรัฐหรือโรงพยาบาลเอกชน แต่หากกรณีที่ไม่ได้เข้าเกณฑ์การต้องตรวจวินิจฉัยโควิด-19แล้วประชาชนต้องการตรวจเองและผลออกมาว่าไม่ติดเชื้อ ผู้ที่ตรวจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขอาจพิจารณาอออกระเบียบเป็นข้อกฎหมายให้สถานพยาบาลที่เป็นหน่วยเก็บตัวอย่างส่งตรวจเชื้อรับรักษาผู้ป่วยรายนั้นต่อไป ในกรณีที่ผลยืนยันว่าติดเชื้อ เพื่อจะได้ไม่ต้องมีการส่งต่อผู้ป่วยไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลรัฐ

เอาผิดรพ.เอกชนไม่แจ้ง

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีผู้ป่วยยืนยัน 1 ราย พบว่าโรงพยาบาลเอกชนที่ไปตรวจนั้นให้นักแสดงกลับบ้านก่อนมาฟังผลในวันต่อมา

ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ป่วยโควิด-19ถือเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ดังนั้น สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งไม่สามารถปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยได้ โดยตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) เมื่อมีมีกลุ่มเสี่ยงเข้ามาขอตรวจโควิด-19และเข้าเกณฑ์ข้อบ่งชี้ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โรงพยาบาลจะต้องแยกไปในห้องเฝ้าระวังการติดเชื้อ ซึ่งจะต้องจัดให้มีการซักประวัติ คัดกรอง เฝ้าระวังและแยกผู้ป่วย จากนั้นโรงพยาบาลต้องแจ้งกรมควบคุมโรคภายใน 3 ชั่วโมง และส่งสารคัดหลั่งผู้ป่วยไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ(ห้องแล็บ)

"ขั้นตอนดังกล่าวทั้งหมดคนไข้ที่เข้ารับการตรวจจะต้องอยู่ที่โรงพยาบาลตลอด ห้ามปล่อยคนไข้กลับบ้านจนกว่าผลห้องแล็บจะแสดงว่าเป็นลบไม่ติดเชื้อ หากปล่อยให้คนไข้กลับไปรอผลแล็บนอกโรงพยาบาลนั้น สถานพยาบาลจะมีโทษจำคุกและปรับ แต่หากผลเป็นบวกคือติดเชื้อ จะต้องเก็บสารคัดหลั่งส่งตรวจเพื่อยืนยันจาก 2 ห้องแล็บ เก็บประวัติคนไข้และประสานผู้เชี่ยวชาญกรมควบคุมโรคเพื่อสอบสวนและควบคุมโรคต่อไป"ทันตแพทย์อาคมกล่าว

นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ดังนั้น โรงพยาบาลที่ให้การดูแลผู้ป่วยแค่สงสัยว่าคนนั้นจะเป็นโควิด-19ก็จะต้องรายงานมาที่กรมควบคุมโรคภายใน 3 ชั่วโมง ซึ่งกรมได้พยายามกำชับโรงพยาบาลทุกแห่ง ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน รวมถึง ห้องปฏิบัติการ(ห้องแล็บ) ที่รับตัวอย่างมาตรวจ จะต้องแจ้งที่กรมควบคุมโรคภายใน 3 ชั่วโมงเช่นกัน หากโรงพยาบาลหรือห้องแล็บไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทางกรมควบคุมโรคก็จะดำเนินการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาดต่อไป ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้สามารถติดตามผู้ป่วยและสถานการณ์ได้รวดเร็วเป็นจริงตามสถานการณ์รายวัน

"กรณีนักแสดงหนุ่ม หากการสอบสวนโรคพบว่าสถานพยาบาลที่ตรวจเชื้อ บอกให้คนไข้กลับบ้านไปแล้วมาฟังผลในวันต่อมาและสถานพยายาลไม่ได้แจ้งกรมควบคุมโรคว่าพบผู้ต้องสงสัยโควิด-19 จะถือว่ามีความผิด เพราะการที่สถานพยาบาลเก็บสารคัดหลั่งส่งตรวจแล็บก็แสดงว่าคนไข้รายนั้นเป็นผู้ต้องสงสัยโรคโควิด-19แล้ว จะต้องแจ้งกรมควบคุมโรคภายใน 3 ชั่วโมง ซึ่งขณะนี้อธิบดีกรมควบคุมโรคได้สั่งการให้มีการพิจารณาเพื่อดำเนินการเปรียบเทียบปรับกับสถานพยาบาลเอกชนดังกล่าว"นายแพทย์ธนรักษ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานพยาบาลที่ไม่ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายฯ จะมีความผิดฐานต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีไม่แจ้งการพบผู้ต้องสงสัยหรือผู้ป่วยโควิด-19ต่อกรมควบคุมโรค ภายใน 3 ชั่วโมง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท

เครดิตข่าวโดย: nationtv
เรื่องอื่นๆ

กรมที่ดิน

ก่อนหน้า