นักข่าวผู้สืบคดี 1MDB บอกไม่แปลกใจที่ไทยไม่จับจอมยักยอกแม้มีหมายจับ

นายทอม ไรท์ หนึ่งในผู้สื่อข่าวที่เปิดโปงการทุจริต เงินกองทุนเพื่อการพัฒนาของรัฐ "1 มาเลเซีย ดีเวลอปเมนต์ เบอร์ฮัด" (1MDB) และผู้ร่วมเขียนหนังสือ Billion Dollar Whale ระบุว่าไม่แปลกใจที่ทางการไทยไม่ยอมจับกุมนายโจ โลว์ ผู้ต้องหาคนสำคัญในคดีนี้ แม้เขาเป็นอาชญากรที่หลายประเทศต้องการตัว อีกทั้งยังปล่อยให้เขาใช้ชีวิตได้อย่างเปิดเผยและหรูหรา

นายไรท์โพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์วานนี้ (24 ก.พ.) ว่า

"ไม่ใช่เรื่องน่าสงสัยเลยที่ทางการไทยไม่ยอมจับกุมโจ โลว์ ในช่วงปี 2559 ซึ่งสิงคโปร์ขอให้ตำรวจสากล (อินเตอร์โพล) ออกหมายจับแดงต่อเขา และจนถึงปี 2561 เป็นอย่างน้อยเขา (โจ โลว์) ได้พักอาศัยอยู่อย่างเปิดเผยที่โรงแรมเดอะ เซนต์ รีจิส (ในกรุงเทพฯ) หรือไม่ก็บนเรือยอชท์ของเขาที่ภูเก็ต แถมเขายังจัดการให้ตำรวจไทยจับกุม ชาเบียร์ ฆุสโต ผู้ชี้เบาะแสในคดี"

ความเคลื่อนไหวของนายไรท์ มีขึ้นหลังนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาปฏิเสธความเกี่ยวข้องของรัฐบาลไทยในขณะนั้น ซึ่งนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งยังประกาศจะดำเนินคดี น.ส.พรรณิการ์ วานิช อดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ที่กล่าวหารัฐบาลว่าปกปิดข้อเท็จจริงและบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมในคดีทุจริต 1MDB

"กรณีที่มีการแถลง ระบุรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว. กลาโหม อาจมีส่วนเกี่ยวข้องคดีทุจริต 1MDB ว่า ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เป็นการกล่าวหาให้ร้ายทำให้สังคมสับสน และขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังพิจารณาจะดำเนินคดีทางกฎหมาย และหลังจากนี้จะประสานกับหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องเพื่อชี้แจงอย่างเป็นทางการต่อไป" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ

สำหรับนายโจ โลว์ เป็นนักการเงินชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนจากปีนังผู้มีชื่อเต็มว่า โลว์ เตี๊ยก โจ เขาถูกพนักงานสอบสวนของมาเลเซียและสหรัฐฯ กล่าวหาว่า เป็นผู้วางแผนการยักยอกเงินครั้งมโหฬารจากกองทุน 1MDB และเป็นคนสนิทของอดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ของมาเลเซียผู้ก่อตั้งกองทุน 1MDB

น.ส.พรรณิการ์ ระบุว่ามีหลักฐานว่าสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของไทยอนุญาตให้นายโลว์ เข้า-ออกประเทศถึง 5 ครั้งระหว่างเดือน ต.ค.2559-พ.ค.2561 ทั้งที่ขณะนั้นตำรวจสากลได้ออกหมายแดงตามคำขอของทางการสิงคโปร์ที่ต้องการตัวบุคคลนี้มาดำเนินคดีฟอกเงินในสิงคโปร์แล้ว

หลังการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว มีผู้วิจารณ์ถึงความน่าเชื่อถือเรื่องหมายแดงที่ว่านี้ ซึ่ง น.ส.พรรณิการ์ ได้ชี้แจงผ่านทางทวิตเตอร์วานนี้ (24 ก.พ.) ว่า

"ถามหากันมากว่าหมายแดงโจ โล ที่ช่อพูดถึง เป็นหมายที่ออกปีไหนกันแน่ ยืนยันนะคะว่าเช็คมาดีไม่มีมั่ว หมายแดงตำรวจสากลที่สิงคโปร์ขอให้ออก ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2016 (พ.ศ.2559) ค่ะ ส่วนหมายที่ IO อ้างกันคือหมายแดงที่มาเลเซียขอ"

"ล่าสุดพลเอกประวิตร มาบอกว่าโจ โล ออกจากไทยก่อนมีหมายแดง โปรดดูบันทึกการเดินทางเข้าออกไทยของโจ โล นะคะ ว่าตั้งแต่วันที่ออกหมายแดง 7 ตุลา 2016 (พ.ศ.2559) โจ โล เข้าออกไทยกี่ครั้ง" น.ส.พรรณิการ์ ระบุ

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ นิวส์ สเตรทส์ ไทม์ส ของมาเลเซีย รายงานเมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า อินเตอร์โพล ยังไม่ได้ใส่ชื่อนายโลว์ ไว้ในบัญชี "หมายแดง" อาชญากรที่ต้องการตัวกลับไปดำเนินคดีไว้ที่เว็บไซต์ของอินเตอร์โพล แม้ว่าจะได้รับคำร้องขอจากคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตของมาเลเซียก็ตาม ซึ่งสอดคล้องกับการสืบค้นของบีบีซีไทย

แฉความเชื่อมโยงไทยกับโจ โลว์

นายไรท์ ยังโพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์ถึงความเกี่ยวโยงระหว่างประเทศไทยกับนายโลว์ โดยระบุว่า

1) บริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่งของไทยซื้อพันธบัตรที่นายโลว์เป็นผู้ดูแล เมื่อปี 2552 ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียระบุว่าพันธบัตรนี้ให้ผลตอบแทนที่ดีมาก

เมื่อกองทุน 1MDB ล่มสลายในปี 2558 นายโลว์ เกรงว่าข้อมูลเหล่านี้จะถูกเปิดเผยออกมา จึงจ่ายเงินผ่านเพื่อนชาวไทยคนหนึ่ง

2) บิดาของนายโลว์ เป็นชาวจีนแต้จิ๋ว เกิดที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

3) ครอบครัวของนายโลว์ร่วมลงทุนกับนักธุรกิจเกาหลีในศูนย์การค้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

4) นายโลว์ พักอาศัยอยู่ที่โรงแรมเดอะ เซนต์ รีจิส ย่านราชดำริ

5) เขาใช้ชีวิตสุขสำราญระหว่างหลบหนีคดี โดยปาร์ตี้กับเหล่าคนดังอย่าง นิโคล เชอร์ซิงเงอร์ นางแบบ นักแสดงชาวอเมริกัน อดีตนักร้องวง เดอะ พุสซีแคตดอลส์ และสวิสซ์ บีตซ์ ดีเจชื่อดังชาวอเมริกันที่โรงแรมอวานี ริเวอร์ไซด์ ในกรุงเทพฯ

6) เขาสามารถจัดการให้ตำรวจไทยจับกุมนายชาเบียร์ ฆุสโต ผู้ชี้เบาะแสในคดี และเข้าถึงเรือนจำไทยได้

พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ชี้แจงในเอกสารแถลงข่าว เมื่อ 24 ก.พ. ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการคุมขังนายฆุสโตว่า กรมราชทัณฑ์ได้ควบคุมตัวนายฆุสโตเมื่อเดือน มิ.ย. 2558 หลังจากเขาตกเป็นจำเลยในข้อหารีดเอาทรัพย์โดยการขู่ว่าจะเปิดเผยข้อมูลของนายจ้าง ศาลตัดสินจำคุกนายฆุสโตเป็นเวลา 6 ปี แต่ลดโทษให้กึ่งหนึ่งเนื่องจากรับสารภาพ ต่อมานายฆุสโตได้รับพระราชทานอภัยโทษและได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2559 สองวันหลังจากนั้นเขาก็เดินทางกลับบ้านที่สวิตเซอร์แลนด์

"ขอยืนยันว่ากระบวนการควบคุมตัวนายฆุสโต ไปจนถึงการปล่อยตัวเป็นการดำเนินการตามกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของไทยอย่างถูกต้องสอดคล้องกับหลักสากลทุกประการ"

เครดิตข่าวโดย: BBC NEWS
เรื่องอื่นๆ

กรมที่ดิน

ก่อนหน้า