นักกฎหมายแนะ ปมเงินบริจาคฌอน แจ้งความได้ ตร.สอบสวนได้แม้ไม่มีเจ้าทุกข์

นักกฎหมาย แนะนำกรณีเงินบริจาคช่วยดับไฟป่าเชียงใหม่ของ ฌอน บูรณะหิรัญ ผู้ที่เสียหายสามารถแจ้งความได้ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร หากพบไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ก็เอาผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ได้

กรณีมีข่าวนักกิจกรรมและไลฟ์โค้ชชื่อดัง นายฌอน บูรณะหิรัญ มีการเปิดรับบริจาคเงินเพื่อนำไปช่วยเหลือเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครดับไฟป่าเชียงใหม่ แต่สังคมกำลังตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีการนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ และมีการชี้แจงที่ไม่ชัดเจน จนเกิดความคิดเห็นขัดแย้งขยายวงกว้าง จนมีนักกฎหมายไปบริจาคเงิน 10 บาทแล้วประกาศจะดำเนินคดี จะเป็นผู้เสียหายได้หรือไม่

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่าที่ พ.ต.สมบัติ วงศ์กำแหง กรรมการฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย เนติบัณฑิตยสภา ในฐานะนักกฎหมาย กล่าวว่า ในหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้คือพระราชบัญญัติควบคุมการเรี่ยไร พุทธศักราช 2487 มาตรา 6 การเรี่ยไรซึ่งอ้างว่าเพื่อประโยชน์แก่ราชการเทศบาลหรือสาธารณประโยชน์จะจัดให้มีได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรแล้ว มาตรา 17 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 5 มาตรา 6 วรรคแรกมาตรา 8 วรรคแรก มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสอง ร้อยบาทหรือจําคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจํา มาตรา 14 ห้ามมิให้จ่ายเงินหรือทรัพย์สินที่เรี่ยไรได้มานั้นในกิจการอย่างอื่นนอกวัตถุประสงค์แห่งการเรี่ยไร ตามที่ได้แสดงไว้เว้นแต่จะจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายพอสมควรในการเรี่ยไรนั้นเอง และ มาตรา 19 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 13 มาตรา 14 มาตรา 15 มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือจําคุกไม่เกินหกเดือนหรือทั้งปรับทั้งจํา

ว่าที่ พ.ต.สมบัติ กล่าวต่อว่า จากข้อกฎหมายที่ยกมา จะเห็นได้ว่าเรื่องการขอรับบริจาคอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมการเรี่ยไร มาตรา 6 กล่าวคือ จะทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไร หากไม่ขออนุญาตมีโทษปรับไม่เกิน 200 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ

และเมื่อได้รับบริจาคมาแล้วก็ต้องทำตามวัตถุประสงค์ของการรับบริจาคด้วย หากนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ มีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไมโทษปรับน้อยมาก กรรมการฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย เนติบัณฑิตยสภา กล่าวว่า เนื่องจากเป็นกฎหมายเก่าตั้งแต่ พ.ศ.2487 จึงมีโทษปรับค่อนข้างน้อยในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การขอรับบริจาคหากเป็นเรื่องเท็จ และขอรับบริจาคผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต หรือคอมพิวเตอร์ จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 มีโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับได้อีก

การขอรับบริจาคที่เป็นเท็จ มีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การนำเงินที่ได้รับบริจาคไปใช้นอกวัตถุประสงค์ เข้าข่ายมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ความผิดที่กล่าวมานี้เป็นความผิดอาญาแผ่นดินที่ยอมความกันไม่ได้ แม้ไม่มีผู้แจ้งความร้องทุกข์ ตำรวจก็สืบสวนสอบสวนได้

ส่วนความเป็นผู้เสียหายที่จะมาแจ้งความร้องทุกข์นั้น ต้องเป็นผู้ที่ถูกหลอก และหลงเชื่อโอนเงินให้แก่ผู้ขอรับบริจาค หากไม่ใช่ผู้ที่ถูกหลอกลวง แต่รู้ว่าผู้รับบริจาคไม่ได้มีเจตนาเอาเงินไปใช้ตามที่ขอบริจาคจริง แล้วยังสมัครใจโอนเงินให้แก่ผู้ขอรับบริจาค น่าจะไม่ถือเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย ผู้ขอรับบริจาคโดยข้อความเท็จ โดยการหลอกลวงผู้อื่น แม้ยังไม่มีผู้บริจาคเงินเข้ามา ถือว่าได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่การกระทำยังไม่บรรลุผลสำเร็จ จะมีความผิดฐานพยายามกระทำความผิด ต้องระวางโทษ 2 ใน 3 ส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

อย่างไรก็ตาม การสืบสวนสืบสวนสอบสวนก็สามารถดำเนินการต่อไปได้แม้ไม่มีผู้แจ้งความร้องทุกข์ เพราะเป็นหน้าที่ของตำรวจที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายต่อไป.

เครดิตข่าวโดย: ไทยรัฐ
เรื่องอื่นๆ

กรมที่ดิน

ก่อนหน้า