หมอผู้ต้องสู้กับโควิด-19 และการเหยียดเชื้อชาติไปพร้อมกัน

ในประเทศต่าง ๆ ที่กำลังต่อสู้กับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แพทย์และพยาบาลได้รับการยกย่องให้เป็นดั่งวีรบุรุษและสตรี อย่างไรก็ตาม วิกฤตในครั้งนี้ก็ยังเผยให้เห็นความคิดเหยียดเชื้อชาติที่หยั่งรากลึกอยู่ในความคิดคนไข้บางคนด้วย

ดร.โรเจย์ เดห์กาน เกิดที่อิหร่าน เรียนที่ออสเตรเลีย และทำงานในกรุงลอนดอนมา 20 ปีในฐานะแพทย์และ นักวิจัย
เธอต้องเผชิญกับความคิดอคติไม่นานหลังจากพบผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ในสหราชอาณาจักร

วันหนึ่งตอนที่เธออยู่ในร้านขายกาแฟแถวบ้าน ชายสูงอายุคนหนึ่งเดินเข้ามาในร้าน และก็เริ่มพูดเสียงดังกับทุกคนว่าชาวต่างชาติที่เดินทางมาทางเรือเป็นผู้แพร่เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

"เขาถามว่าฉันมาจากไหน ฉันไม่ได้ตอบอะไร ฉันพยายามจะไม่ฟัง แล้วเขาก็พูดว่า โอ้ คุณเป็นชาวต่างชาติ กลับประเทศไปซะ"

แม้ว่าเจ้าของร้านจะพยายามช่วยปกป้องเธอโดยบอกผู้ชายคนนั้นว่าเธอกำลังช่วยประเทศชาติในฐานะแพทย์ ผู้ชายคนนั้นก็ยังไม่หยุดพูดจาเหยียดหยามเธอ

ประสบการณ์นี้ทำให้เธอทั้งโกรธและสับสนกับที่ทางของตัวเองในสังคม

"ตอนนี้ ประเทศฉันต้องการฉัน แต่คำว่าต้องการกับอยากมีไม่เหมือนกัน เป็นความสัมพันธ์แบบทั้งรักทั้งเกลียดผสมกัน"

"ฉันไม่สามารถแยกตัวเองได้ ไม่สามารถไปทำงานละพูดว่า ฉันจะทิ้งตัวตนในฐานะผู้อพยพไว้ที่บ้านและเดินทางไปโรงพยาบาลในฐานะแพทย์"

สถิติที่รวบรวมขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ชี้ว่าเกือบ 1 ใน 4 ของแพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาลในสหราชอาณาจักรไม่ได้เกิดที่นี่ และ ดร.เดห์กาน หวังว่าการระบาดใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นจะทำให้คนตระหนักเรื่องนี้

"ฉันไม่ต้องการให้คนมาปรบมือให้ แค่อยากให้คนคิดวิเคราะห์อย่างลึกซึ้งถึงความสัมพันธ์ของพวกเขากับบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ใช่แค่เราทำอะไร แต่ดูว่าเราคือใครด้วย"

"ผมเติบโตที่นิวยอร์ก ผมเคยโดนเหยียดเชื้อชาติมาก่อน"

นครนิวยอร์กกลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดในสหรัฐฯ โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุดในประเทศกว่า 1.4 หมื่นรายแล้ว

ดร.เอ็ดเวิร์ด ชูว์ เป็นหัวหน้าแผนกฉุกเฉินที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในเขตแมนแฮตตัน และต้องรับมือกับผู้ป่วยหนักที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

เขาบอกว่า คนไข้บางคนมีท่าทีและปฏิบัติต่อเขาแตกต่างจากคนอื่นเพราะเขาเป็นคนอเมริกันเชื้อสายเอเชีย บางคนขอพบแพทย์คนอื่นแทนด้วยซ้ำ และพอวิกฤตไวรัสโคโรนาเริ่มขึ้น เขาก็เคยเจอเหตุการณ์ที่คนนั่งข้าง ๆ เอาเสื้อปิดจมูกและแอบกระซิบกระซาบ

เขาเป็นห่วงแพทย์และพยาบาลในทีมจึงไปหาซื้ออุปกรณ์ป้องกันเพิ่มให้

"ระหว่างต่อคิวรอ ปรากฏว่ามีคนที่แอบนินทาผม ผมเป็นคนเดียวที่ต้องแสดงบัตรประจำตัวก่อนจะซื้อแว่นตาป้องกันและหน้ากากอนามัย"

"ที่ร้านหนึ่ง ชายหนุ่มสามคนเดินตามและทำมาไอใส่ผม หลังจากจ่ายเงินและเดินออกมาแล้ว พวกเขาก็ยังเดินตามมาข่มขู่ผมต่ออีก"

ดร.ชูว์ บอกว่า เขาคิดมาตลอดว่านิวยอร์กเป็นเมืองที่เปิดรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม และแม้ว่าจะต้องเผชิญกับอคติ เขาตั้งใจจะช่วยให้คนผ่านวิกฤตอันเลวร้ายนี้ไปให้ได้

"คนไข้ก็คือคนไข้ ผมไม่สนว่าเขาจะมองหรือคิดกับผมอย่างไร ไวรัสนี้ไม่แบ่งแยกเลือกคน และหากเห็นว่ามีคนป่วย หน้าที่เราคือต้องช่วยพวกเขา"

"ผมพยายามมองโลกในแง่ดี แต่นี่เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดตั้งแต่ผมเป็นแพทย์มา"

"ดูแลคนไข้ก่อน"
ที่ออสเตรเลีย แพทย์หญิง เรีย เลียง บอกว่าหากได้นอนวันละไม่กี่ชั่วโมงก็ถือว่าโชคดีแล้ว แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในออสเตรเลียยังมีไม่มาก แต่ ดร.เลียง บอกว่า ผู้คนมักโยงว่าเธอมีส่วนเกี่ยวข้องกับวิกฤตในครั้งนี้

"บางครั้ง เวลาคนเห็นฉัน เขายังพูดกันว่า "แต่คนจีนเป็นคนเริ่ม[การแพร่ระบาด]ด้วยการกินค้างคาว"..."

คนไข้คนหนึ่งปฏิเสธที่จะรับฟังคำวินิจฉัยจากเธอ โดย "เล่นมุก" ว่าเธอเป็นคนจีน

"ฉันก็ให้การรักษาต่อไป ปรัชญาของฉันคืออะไรรู้ไหม ดูแลคนไข้ก่อน"

"คนเป็นแพทย์สามารถมีจิตใจเปิดกว้างกว่า ความกลัวและเครียด อาจทำให้คนไข้ไม่ได้เผยตัวตนด้านที่ดีที่สุดของพวกเขาออกมา"

ดร.เลียง พยายามคิดว่าไม่มีใครดีสมบูรณ์แบบไปหมด และหน้าที่สำคัญที่สุดคือการให้การรักษาอย่างดีที่สุดโดยไม่ไปด่วนตัดสินใคร

เธอบอกว่ารู้สึกมีกำลังใจที่คนส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนเธอและทีมของเธอ ขณะที่ไม่มีใครปฏิเสธได้แล้วว่าวิกฤตครั้งนี้เลวร้ายแค่ไหน

"น่าตลกดีที่การเหยียดเชื้อชาติดูจะลดไปเมื่อการระบาดใหญ่คืบคลานเข้ามาเรื่อย ๆ และก็ชัดเจนแล้วว่า เราทุกคนต้องเผชิญกับมันด้วยกัน"

"ผู้คนที่ทำงานอยู่ในด่านหน้า มีความหลากหลายมาก และเราทุกคนร่วมมือกันเพื่อจะให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้"

เครดิตข่าวโดย: BBC NEWS
เรื่องอื่นๆ

กรมที่ดิน

ก่อนหน้า