แม่ค้าสุรินทร์กลัวโควิด-19 ล้างแอลกอฮอล์ “ธนบัตร-เหรียญ” แพทย์ไม่แนะนำวิธีนี้

แม่ค้าขายของชำ จ.สุรินทร์ หวั่นเชื้อโควิด-19 ใช้แอลกอฮอล์ผสมน้ำล้าง “ธนบัตร-เหรียญ” พร้อมเผยเพื่อความสบายใจ ขณะที่แพทย์ กรมควบคุมโรคไม่แนะนำวิธีนี้ ชี้สิ้นเปลือง ซับซ้อน แนะนำล้างมือตัวเองบ่อยๆ เวลาหยิบจับของสัมผัสร่วมกับคนอื่น เพียงพอแล้วป้องกันเชื้อเข้าสู่ตนเอง

วันที่ 28 เมษายน ผู้สื่อข่าว จ.สุรินทร์ เดินทางไปพบร้านค้าของชำแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ใน ต.หนองใหญ่ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ เจ้าของร้านซึ่งเป็นผู้หญิง อายุ 58 ปี มีมาตรการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มข้น คือ

1. ลูกค้าที่เข้ามาซื้อของต้องยืนห่างอย่างน้อย 1 เมตร

2. เวลาจ่ายเงินให้ใส่ลงไปในกะละมัง ที่ผสมน้ำและแอลกอฮอล์ 70 %

3. ใช้ตะกร้าส่งเงินทอน ซึ่งเป็นธนบัตรหรือเหรียญ ที่นำไปผึ่งจนแห้งแล้ว

โดยเจ้าของร้านบอก ว่า ตนเอาน้ำผสมกับแอลกอฮอล์เข้มข้น มาใส่ในกะละมังเพื่อฆ่าเชื้อโรคในธนบัตร และเหรียญที่รับมาจากลูกค้า แล้วค่อยๆ คีบธนบัตร บีบหมาดๆ เช็ดคราบสกปรกและแบคทีเรียที่อยู่บนผิวธนบัตร หลังจากนั้นใช้ผ้าหรือทิชชู่ซับให้แห้ง หรือไปตากแดดก่อนใช้ และหมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ เพื่อความสบายใจ ป้องกันเชื้อโรคโควิด-19 ซึ่งทำแล้วสบายใจ ป้องกันไว้ดีกว่าแก้

ขณะที่ นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว Workpoint News ว่า น่าจะมีวิธีที่สะดวกและประหยัดกว่านั้น การป้องกันเพื่อไม่ให้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย เพราะธนบัตรคือสิ่งของที่คนสัมผัสผ่านมือมาหลายคน สิ่งสำคัญที่แนะนำคือการทำความสะอาดมือ ทั้งล้างมือด้วยสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เพื่อลดโอกาสรับเชื้อผ่านมือของเราที่ไปสัมผัสสิ่งของอื่น

“ในชีวิตประจำวันเราหยิบของหลายชนิดที่ไม่ใช่ธนบัตรที่เอามาจากคนอื่นเหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าเราใช้วิธีนี้น่าจะสิ้นเปลืองและอาจจะไม่สะดวก คือไม่สามารถปฏิบัติได้ในแบบปกติ ถามว่าที่ทำผิดมากไหม ก็ไม่ได้ผิดนะ แต่ถ้าเป็นผม ผมคงไม่ใช่วิธีนี้ ไม่ใช่วิธีที่แนะนำให้ประชาชนทำอยู่แล้วเพราะต้องไปซื้อแอลกอฮอล์ ต้องทำให้ธนบัตรอาจเสียคุณภาพธนบัตร เพราะว่าแอลกฮอล์เป็นสารเคมี แม้ว่าจะเป็นสารเคมีที่ปลอดภัยกับคน ไม่น่าจะเป็นวิธีที่ดี และการใช้แอลกอฮอล์แบบนี้มันอาจจะทำให้สิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น” นพ.โสภณ กล่าว

นพ.โสภณ เน้นย้ำด้วยว่า วิธีที่แนะนำให้ประชาชนปฏิบัติ ในการหยิบจับสิ่งที่มีคนอื่นหยิบจับมาก่อน เช่นเดียวกับพื้นผิวสัมผัสร่วม ล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์หลังการสัมผัส และอย่าเอามือมาจับบริเวณใบหน้า เพราะการใช้แอลกอฮอล์ในวิธีที่กล่าวข้างต้นอาจมีประเด็นเรื่องการทิ้งแอลกอฮอล์หรือหากมีปริมาณแอลกอฮอล์มากก็จะมีประเด็นเรื่องประกายไฟตามมาอีก

เครดิตข่าวโดย: workpointnews
เรื่องอื่นๆ

กรมที่ดิน

ก่อนหน้า