สหรัฐฯ ขอถอนตัวจากสมาชิก WHO ใครเสียประโยชน์

การตัดสินใจครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ กล่าวหาว่า จีนปิดบังข้อมูลการระบาดต่อองค์การอนามัยโลก แต่การถอนตัวครั้งนี้จะเป็นสหรัฐฯ หรือโลกของเราที่ได้รับผลกระทบมากกว่ากัน?

วันนี้มีรายงานว่า คณะทำงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้แจ้งองค์การสหประชาชาติอย่างเป็นทางการว่า สหรัฐอเมริกาจะถอนตัวออกจากองค์การอนามัยโลก ซึ่งจะมีผลในวันที่ 6 มิถุนายนปีหน้า

โดยปกติแล้วการถอนตัวออกจากองค์การอนามัยโลกจะต้องแจ้งล่วงหน้าหนึ่งปี และยังต้องจ่ายเงินสนับสนุนของปีนี้ให้ครบถ้วน

การถอนตัวออกจากองค์การอนามัยโลกครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กล่าวหาว่า จีนปิดบังข้อมูลการพบเชื้อโควิด-19 กับองค์การอนามัยโลก จนเป็นต้นเหตุของการระบาดของโควิด-19 ที่ลุกลามจนกลายเป็นวิกฤตไปทั่วโลก ที่ปัจจุบันสหรัฐฯ ได้กลายเป็นประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงที่สุดของโลก และยังเคยกล่าวหาองค์การอนามัยโลกด้วยว่า เข้าข้างจีนโดยการไม่ลงโทษจีนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตามจนถึงตอนนี้ยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันแน่ชัดว่า จีนปิดบังหรือให้ข้อมูลบิดเบือนกับองค์การอนามัยโลก

ซึ่งหลังจากที่ทรัมป์เคยขู่ประกาศตัดความสัมพันธ์กับองค์การอนามัยโลกในเดือนมีนาคม จีนใช้จังหวะนั้นประกาศให้เงินสนับสนุนองค์การอนามัยโลกเพิ่ม 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การถอนตัวออกจากองค์การอนามัยโลกท่ามกลางวิกฤตโรคระบาด ทำให้บรรดานักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของสหรัฐฯ วิพากษ์วิจารณ์ว่า นี่เป็นการตัดสินใจที่นำหายนะมาสู่สหรัฐฯ เพราะมันจะเป็นการทิ้งสหรัฐฯ ให้อยู่คนเดียวในเวลาที่สหรัฐฯ ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด และยังลดอิทธิพลของสหรัฐฯ ต่อนโยบายด้านการแพทย์บนเวทีโลก

การถอนตัวออกจากองค์การอนามัยโลก ทำให้เกิดคำถามว่า จะส่งผลเสียต่อสหรัฐฯ หรือทั้งโลกมากกว่ากัน เรามาดูผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสหรัฐฯ ประเทศที่ขณะนี้มียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงที่สุดในโลกกันก่อน

ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้น องค์การอนามัยโลกเปรียบเสมือนศูนย์กลางที่ประเทศสมาชิกต่างแบ่งบันข้อมูลเกี่ยวกับโรค ไปจนถึงพัฒนาการของวัคซีนและยังเป็นองค์กรที่มีเม็ดเงินไว้ช่วยเหลือทุกประเทศยามวิกฤต

การถอนตัวออกจากองค์การอนามัยโลก จึงเปรียบเสมือนการที่สหรัฐฯ เอาตัวเองออกมาจากแหล่งความช่วยเหลือทั้งทางด้านข้อมูลและด้านการเงิน

องค์การอนามัยโลกเป็นศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์จากทั่วโลก ซึ่งมีความสำคัญมากในยามที่โรคโควิด-19 ยังถือว่าเป็นโรคใหม่ ที่ทุกประเทศต่างยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับมันอย่างสมบูรณ์ การถอนตัวจึงจะทำให้สหรัฐฯ ต้องต่อสู้กับโรคร้ายนี้อย่างขาดมันสมองของทั้งโลกไป โดยเฉพาะการพัฒนาวัคซีน

ข้อเสียของการถอนตัวอีกข้อคือ บทบาทของสหรัฐฯ ในฐานะมหาอำนาจบนเวทีโลกจะลดลง ตลอดระยะเวลา 72 ปี ขององค์การอนามัยโลก สหรัฐอเมริกาเปรียบเหมือนดาวเด่นในวงการแพทย์ของโลกมาโดยตลอด สหรัฐฯ เล่นบทช่วยเหลือประเทศอื่นในยามวิกฤต และมันได้กลายเป็นอำนาจอ่อน หรือ Soft Power ของสหรัฐฯ

ตั้งแต่การคิดค้นการรักษาและยาต้านไวรัสเอชไอวี จนถึงการช่วยคิดค้นวัคซีนป้องกันอีโบลาที่ตอนนี้ยังไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซนต์ ซึ่งทั้ง 2 โรคเป็นโรคระบาดร้ายแรงโดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา

การถอนตัวในจังหวะนี้จึงอาจเป็นการเปิดทางให้จีน ไม้เบื่อไม้เมาของสหรัฐฯ ขึ้นมามีบทบาทระดับโลกในการยับยั้งไวรัสโควิด-19 ที่ตอนนี้เราเห็นว่าจีนสามารถควบคุมการระบาดภายในประเทศได้ในระดับดี จนสามารถมีกำลังไปช่วยเหลือประเทศอื่นๆ ซึ่งรวมไปถึงประเทศตะวันตก

และจุดนี้อาจทำให้ทั่วโลกเลิกสนใจที่จะค้นหาความจริงว่าจีนปิดบังเกี่ยวกับโควิด-19 ในตอนแรกหรือไม่ และเพิกเฉยการละเมิดสิทธิมนุษยชนของจีน ข้อหาที่ทรัมป์เองก็ต้องการให้ทั่วโลกหันไปประณามจีน

อย่างไรก็ตาม การถอนตัวออกจากองค์การอนามัยโลกไม่เพียงส่งผลเสียต่อสหรัฐฯ เอง แต่มันอาจยังส่งผลเสียต่อระบบสาธารณสุขของโลกด้วย เพราะสหรัฐฯ เป็นผู้ให้เงินสนับสนุนองค์การอนามัยโลกรายใหญ่ที่สุดมาต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี

ระหว่างปี 2018-219 สหรัฐฯ ให้เงินสนับสนุนองค์การอนามัยโลกเป็นจำนวนมากกว่า 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 24,000 ล้านบาท นับเป็นจำนวนเงินที่คิดเป็นร้อยละ 15 ของงบประมาณทั้งหมด และมากกว่า 2 เท่าของจำนวนเงินที่ประเทศอื่นบริจาคให้องค์การอนามัยโลก

รองลงมาคือ อังกฤษ มูลนิธิของบิลเกตส์ องค์กรพันธมิตรวัคซีน และเยอรมนี โดยใน 10 อันดับแรก เป็นเพียง 4 ประเทศเท่านั้นคือ สหรัฐฯ อังกฤษ เยอรมนี และญี่ปุ่น

การหยุดให้ความช่วยเหลือของสหรัฐฯ ย่อมหมายถึงเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่จะหายไปต่อปีในเวลาที่โลกอาจจะต้องการมันมากที่สุด ซึ่งขนาดตอนนี้เององค์การอนามัยโลกก็ต้องขอเงินสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น หลังจากเกิดโรคระบาดโควิด-19

และนอกจากสหรัฐฯ จะเข้าถึงข้อมูลของประเทศอื่นได้น้อยลงแล้ว ทั่วโลกเองก็จะเข้าไม่ถึงข้อมูลทางการแพทย์ที่ถูกวิจัยขึ้นในสหรัฐฯ เช่นกัน ซึ่งสหรัฐฯ ถือว่าเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ และเป็นผู้พัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่เข้าใกล้เป้าหมายมากที่สุดในขณะนี้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในยามวิกฤตที่ต้องการความร่วมมือแบบนี้ ย่อมเป็นทั้งสองฝ่ายที่จะได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน

โดยก่อนหน้าที่จะมีการแจ้งองค์การสหประชาชาติว่าจะถอนตัวจาก WHO คณะทำงานของทรัมป์ยังได้มีการความประสงค์ในการถอนตัวต่อสภาคองเกรสของสหรัฐ ซึ่งก็ถือว่ากระบวนการถอนตัวได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการโดยประธานคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ Bob Menedez ได้ทวีตข้อความว่า การกระทำเช่นนี้ของทรัมป์คือการปล่อยให้อเมริกาป่วยและโดดเดี่ยว

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สหรัฐภายใต้การนำของทรัมป์ถอนตัวของจากเวทีที่เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ เมื่อปลายปีที่แล้วทรัมป์ประกาศถอนสหรัฐออกจากความตกลงปารีส ซึ่งเป็นข้อตกลงที่เกี่ยวกับความพยายามในการแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยการร่วมมือกันลดก๊าซเรือนกระจกที่กว่า 200 ประเทศลงนามให้สัตยาบัน โดยทรัมป์บอกว่าข้อตกลงนี้ไม่เป็นธรรมกับสหรัฐ แต่หลายคนบอกว่า ทรัมป์ทำแบบนี้เพราะมีจุดยืนในการสนับสนุนพลังงานจากถ่านหินและน้ำมัน

ทรัมป์ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากทั้งในสหรัฐฯ และทั่วโลกต่อเจตนาที่จะถอนตัวออกจากความตกลงปารีส

เครดิตข่าวโดย: PPTV HD 36
เรื่องอื่นๆ

กรมที่ดิน

ก่อนหน้า