ป้องกัน COVID-19 โรงเรียน-ผู้ปกครอง ต้องอ่าน!

ตอบคำถามคาใจของ "ผู้ปกครอง-สถานศึกษา" โดย นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค

วานนี้ (6 มี.ค.63) นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊คส่วนตัว "หมอแก้ว ผลิพัฒน์" เกี่ยวกับ “ข้อคิดเกี่ยวกับการป้องกันโรค COVID-19 ในโรงเรียน” ซึ่งสรุปข้อมูลควรรู้สำหรับผู้ปกครองและสถานศึกษา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า2019 (COVID-19)

โดยอธิบายว่า โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 มีลักษณะบางอย่างคล้ายไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 เช่น มีระยะฟักตัวสั้น ประมาณ 5 วัน และมีความสามารถในการแพร่เชื้อจากคนไปคนได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็มีลักษณะบางอย่างที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะในประเด็นความรุนแรง

โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ข้อมูลในปัจจุบัน) มีความรุนแรงสูงกว่าไข้หวัดใหญ่ 2009 บ้าง นั่นคือ หากมีผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หนึ่งพันคน คาดว่าจะมีผู้เสียชีวิต ประมาณ 3 - 5 คน ขณะนี้การระบาดในประเทศเรายังไม่เริ่มต้นขึ้น แต่การระบาดในหลายประเทศได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ถ้าถามว่าโรคนี้มันจะอยู่กับเราไปนานแค่ไหน จากประสบการณ์การรับมือไข้หวัดใหญ่ 2009 เราคาดว่า โรคนี้น่าจะสร้างความกดดันให้เราอีกประมาณ 2 ปี หรือจนกว่าเราจะมีวัคซีน หรือจนกว่าโรคจะหยุดระบาด

ผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ออกมาโดยการไอ จาม เอาละอองฝอยน้ำลายออกมา ดังนั้น ผู้ที่เสี่ยง คือ ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยในรัศมี 2 เมตร (ซึ่งละอองฝอยน้ำลายสามารถกระเซ็นถึง) หากเราอยู่ห่างจากผู้ป่วยมากกว่า 2 เมตร ความเสี่ยงก็จะลดต่ำลง การสัมผัสอย่างผิวเผิน เช่น การเดินสวนกัน โดยที่ผู้ป่วยไม่ได้มีอาการไอ เป็นต้น มีโอกาสติดเชื้อแทบจะเป็นศูนย์ นอกจากนี้ หากน้ำลาย ของผู้ป่วยตกลงบนผิวสัมผัส แล้วเรานำมือไปสัมผัสพื้นผิวนั้น ๆ แล้วนำมาสัมผัสบริเวณใบหน้า ตา จมูก หรือปาก ก็จะทำให้เราติดเชื้อได้เช่นกัน

พร้อมกันนี้ ได้ระบุถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดครั้งนี้ว่า มี “โรงเรียน” และ “มหาวิทยาลัย” เป็นเป้าหมายหลักของการป้องกันการเกิดการระบาดเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ เพราะเป็นจุดที่คนอยู่ร่วมกันค่อนข้างมาก เป็นเด็กที่เล่นกันค่อนข้างเยอะ ถ้ามีผู้ป่วยเดินเข้ามาในโรงเรียนได้ ก็อาจทำให้มีการแพร่เชื้อต่อไป

นายแพทย์ธนรักษ์​ จึงได้รวบรวม “คำถาม-คำตอบ” ที่ผู้ปกครอง และ สถานศึกษา ควรรู้และจำเป็นต้องรู้มา ณ ที่นี้


1. ถ้าเด็กกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยงและกักตัวครบ 14 วันแล้วมาเรียนได้ตามปกติหรือไม่?
ตอบ: สามารถมาเรียนได้ตามปกติ

2. ถ้าต้องเที่ยวเมืองไทย ต้องระวังสถานที่ท่องเที่ยวหรือเมืองที่คนจีนไปไหม ?
ตอบ: ตอนนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดเปลี่ยนไปมาก ประเทศจีนเองก็มีผู้ป่วยลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน ประเทศอื่นก็มีแนวโน้มที่จะมีผู้ป่วยมากขึ้น ดังนั้น ความเสี่ยงที่จะพบผู้ป่วยหากพูด ในหลักการในปัจจุบันก็คือสถานที่ที่มีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก หรือสถานที่ที่มีผู้คนแออัด

3. ถ้ามือเราเป็นแผล เชื้อเข้าทางบาดแผลได้หรือไม่?
ตอบ: เชื้อตัวนี้ยังไม่มีหลักฐานว่าสามารถติดเชื้อทางแผลได้

4. หน้ากากผ้าสามารถซักแล้วใช้ซ้ำได้ไหม (ควรพ่นแอลกอฮอล์หรือไม่)
ตอบ: ซักแล้วใช้ซ้ำได้ ผงซักฟอกและแสงแดดฆ่าเชื้อโรคตายได้ โดยไม่จำเป็นต้องพ่นแอลกอฮอล์

5. ถ้าติดเชื้อแล้วโอกาสหายสูงมั้ย?
ตอบ: โอกาสหายจากโรคสูง โรคนี้เป็นโรคที่หายได้เองโดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ (ประมาณร้อยละ 80) ไม่ต้องให้ยาต้านไวรัส

6. ผู้ป่วยที่ติดเชื้อรักษาหายแล้ว ติดเชื้อซ้ำอีกได้มั้ย?
ตอบ: ส่วนใหญ่หากติดเชื้อแล้ว ทั่ว ๆ ไปเราจะมีภูมิคุ้มกันซึ่งสามารถป้องกันโรคได้สักระยะหนึ่ง ระดับภูมิคุ้มกันจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งตอนนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าเมื่อภูมิคุ้มกันลดลงมากแล้ว ผู้ป่วยจะมีโอกาสติดเชื้อซ้ำได้อีกมั้ย ส่วนที่เราพบเห็นในข่าว ส่วนใหญ่ไม่ใช่การติดเชื้อใหม่ แต่เป็นการที่เรายังสามารถตรวจพบเชื้อในตัวผู้ป่วยได้ค่อนข้างนานหลังจากที่ผู้ป่วยไม่มีอาการแล้ว

7. โรงเรียนสามารถจัดกีฬาสีได้ไหม?
ตอบ: โรงเรียนควรประเมินสถานการณ์การระบาดเมื่อใกล้วันจัดงานอีกครั้งหนึ่ง หลักการที่สำคัญ คือ หากเราสามารถขอความร่วมมือให้ผู้ป่วยพักอยู่กับบ้าน (ไม่ว่าจะเป็น ครู นักเรียน ผู้ปกครอง เจ้าหน้าที่ หรือแขกรับเชิญ) ไม่มาร่วมกิจกรรมกีฬาสี คนที่เหลืออยู่ก็จะสามารถร่วมงานกีฬาสีกันได้อย่างมีความสุข

นอกจากนี้ โรงเรียนอาจพิจารณานำมาตรการลดความเสี่ยงต่างๆ มาใช้ร่วมด้วย เช่น การจัดงาน ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก การสนับสนุนให้กองเชียร์สวมใส่หน้ากากผ้า เป็นต้น

8. โรงเรียนสามารถจัดทัศนศึกษาได้ไหม?
ตอบ: ถ้าพื้นที่ที่โรงเรียนจะไปจัดกิจกรรม ทางโรงเรียนสามารถบริหารจัดการให้ปลอดผู้ป่วย (ทั้งนักเรียน ครู พนักงานขับรถ และทีมในพื้นที่) โรงเรียนก็จะสามารถจัดทัศนศึกษาได้

9. ในสระว่ายน้ำ ถ้ามีคนติดเชื้อลงไปใช้สระเราจะติดเชื้อไปด้วยไหม?
ตอบ: โดยทั่วไป คลอรีนฆ่าเชื้อได้ดี ดังนั้น ถ้าสระว่ายน้ำดูแลปริมาณคลอรีนในน้ำได้ตามมาตรฐานก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่หากว่ายน้ำอยู่ แล้วถูกคนติดเชื้อไอหรือจามใส่หน้าก็จะมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้

ทั้งนี้นายแพทย์ธนรักษ์ ให้คำแนะนำแก่สถานศึกษาเพิ่มเติมด้วยว่า วัตถุประสงค์ของการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ไม่ใช่การป้องกันไม่ให้มีเด็กป่วยเกิดขึ้นในโรงเรียน แต่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดใหญ่ขึ้นในโรงเรียน โดยมีหลักการที่สำคัญคือ "ให้เด็กที่ป่วยหยุดเรียน เพื่อให้เด็กที่ยังสบายดีอยู่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ"

โดยแนะนำให้โรงเรียนควรจัดให้มีทีมงานรับผิดชอบประสานงานด้านโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ขึ้นในโรงเรียน (ซึ่งควรประกอบด้วยครู เจ้าหน้าที่ นักเรียน และผู้ปกครอง) ทุกคนที่เกี่ยวข้องในโรงเรียนต่างต้องมีส่วนช่วยในการป้องกันโรคในโรงเรียน ทั้ง ครู เจ้าหน้าที่ คุณพ่อคุณแม่ นักเรียน รวมไปจนถึงแม่บ้าน

โรงเรียนควรชี้แจงและให้ความรู้เกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 และมาตรการต่าง ๆ ที่โรงเรียนจะดำเนินการ และขอความร่วมมือจากทุกคนและทุกฝ่ายเพื่อให้ผู้ป่วยหยุดเรียน หยุดงาน และไม่เข้ามาร่วมกิจกรรมกับโรงเรียน

เครดิตข่าวโดย: bangkokbiznews
เรื่องอื่นๆ

กรมที่ดิน

ก่อนหน้า